Skip to main content

MBA Global Business Experience : Kyoto , Japan.

นิสิต MBA Chula ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้าง Global Business Experience ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตร MBA Young Executive รุ่น 30/1 ตั้งแต่วันที่ 4-6 มิถุนายน 2567
สำหรับช่วงเช้าวันแรกของการทัศนศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้รับเกียรติจาก Prof. Kobayashi กล่าวต้อนรับคณะอาจารย์และนิสิต ซึ่งได้กล่าวย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิตัล ซึ่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่ทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงธุรกิจในเกียวโตที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรม จึงเป็นโจทย์สำคัญของทุกภาคส่วนที่จะต้องคิดหาโมเดลทางธุรกิจที่ประสานความดั้งเดิมทางวัฒนธรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจยุคใหม่ที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
จากนั้นกลุ่มนิสิตได้ฟังบรรยายจาก Prof. Maegawa เรื่อง Traditional company in Kyoto ในมุมมองด้านธุรกิจและวัฒนธรรมที่มีจุดเด่นทั้งในด้านฝีมือและคุณภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาความสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Win-Win-Win ที่ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และสังคม ได้ประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือการบริการของเกียวโตนั้นมีความแตกต่างจากเมืองอื่นในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่นในระดับโลก และลอกเลียนแบบได้ยาก
นอกจากนี้ Prof. Maekawa ยังได้อธิบายอีกว่าการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจตามยุคสมัยได้ทำให้ธุรกิจในเกียวโตต้องมีการปรับตัวที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีอายุเกิน 100 ปี (Shinise) ที่มีจำนวนมากในเมืองเกียวโต โดยธุรกิจเหล่านี้ต้องมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความหลากหลายหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงต้องพยายามเรียนรู้การปรับใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ในธุรกิจ ซึ่งล้วนส่งผลทำให้ธุรกิจในเกียวโตสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและมีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน “small market size, but longer life“
ในช่วงบ่าย นิสิตหลักสูตร MBA Young Executive รุ่น 30/1 ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบริษัท Eirakuya ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทผ้า เป็น family business ที่มีการสืบทอดมานานกว่า 400 ปีในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันบริหารและดำเนินการโดยรุ่นที่ 14
ในช่วงแรกของการเยี่ยมชม ท่านประธานบริษัทรุ่นที่ 14 คุณ Ihee Hosotsuji ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบริษัท กระบวนการทำผ้า รวมถึงแสดงตัวอย่างผลงานผ้าแบบต่างๆ และได้แบ่งปันมุมมอง mindset ในการประกอบธุรกิจครอบครัว(family business) ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของการบริหารงาน และการดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อคู่ค้า ลูกค้า และสังคมโดยรอบ โดยท่านประธานได้ชี้ให้เห็นว่า การอยู่รอดของธุรกิจในแต่ละช่วงวิกฤตการณ์ของบริษัทตลอด 400 ปีที่ผ่านมา คือ การเข้าใจถึงข้อจำกัดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วพยายามมองหาวิธีการในการจัดการกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
ในปัจจุบันทางบริษัทได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แบบดั้งเดิมให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น การสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ดังระดับโลก การสร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการบอกต่อ (caption) และเปลี่ยนมุมมองของการบริโภคจากการบริโภคสินค้าเป็นการบริโภควัฒนธรรม อีกทั้ง ยังได้ขยายแบรนด์ชื่อว่า Diaghilev & Maré เพื่อเข้าถึงกลุ่มตลาดยุโรปมากยิ่งขึ้น
หลังจากจบการบรรยาย เหล่านิสิตได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ HOSOTSUJI IHEE โดยภายในมีการจัดแสดงสินค้า ตัวอย่างผลงานของ eirakuya ต่างๆมากมาย

ในช่วงเช้าในวันที่ 2 ของการดูงาน นิสิตได้เข้ารับฟังการบรรยายที่ Kyoto University ในหัวข้อ Japanese Business Leadership จาก Professor Shige Makino
เนื้อหาการเรียนในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการอภิปรายถึง Japanease Business Model ซึ่ง Prof. Makino ได้ชี้ให้เห็น ถึง 2 Requirements for leader ที่ได้แก่ Decisiveness หรือความสามารถในการตัดสินใจที่ถูกต้อง และ Execution หรือการดำเนินการเพื่อให้งานเสร็จไปไดด้วยดี โดยผู้นำของญี่ปุ่นมีจุดเด่นด้านการ Execution ในขณะที่ผู้นำจากทางโลกตะวันตกจะมีแนวโน้มโดดเด่นในด้าน Decisiveness
นอกจากนี้ ยังได้มีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงรูปแบบของการสร้างนวัตกรรม ที่ผู้นำในโลกตะวันตกมักมุ่งเน้นในการทำสิ่งที่แตกต่าง (Do different) ในขณะที่ผู้นำของญี่ปุ่นมักมุ่งเน้นไปในการทำของเดิมให้ดีขึ้น (Do better)
การบรรยายในครั้งนี้ นิสิตได้ร่วมอภิปรายเปรียบเทียบลักษณะ Leader ที่แบ่งออกเป็น Type A (American), Type J (Japanese), Type C (Chinese) และ Type T (Thailand) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนหารือลักษณะของผู้นำคนไทยว่าเหมือนหรือแตกต่างกับชาติอื่นๆ อย่างไร
อีกทั้ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้นำลักษณะต่าง ๆ กับความสำเร็จของบริษัท ในช่วงท้ายของการบรรยายอาจารย์ได้ยกตัวอย่างบริษัทและผู้นำที่ทำแล้วล้มเหลว พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้บริษัทล้มเหลว และปิดท้ายด้วยตัวอย่างบริษัทในญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของผู้นำ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการบริหารงานที่ดีให้นิสิตสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ในอนาคต 
ส่วนในช่วงบ่าย คณะนิสิตได้เดินทางได้เข้าเยี่ยมชมวัดไดโกจิ (Daigoji Temple) ซึ่งเป็นซึ่งหนึ่งในวัดสำคัญในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวัดพุทธนิกายชินงอน (Shingon) ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 874 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับ UNESCO เมื่อปี ค.ศ. 1994
เนื่องจากวัดมีอายุกว่า 1,200 ปี และมีวัตถุโบราณทำให้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการดูแลบูรณะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ทางวัด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกียวโตและภาคเอกชน ในการเข้ามาช่วยวางแผนการบริหารจัดการวัด โดยมุ่งเป้าหมายหลักที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ เพื่อให้วัดสามารถอยู่คู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน
ปัญหาที่พบ คือ แม้ว่าทางวัดจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่กลับมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก สาเหตุมาจากสถานที่ตั้งที่แยกตัวอยู่ห่างจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอื่น ๆ ในเกียวโต ทางผู้บริหารและทีมที่ปรึกษาได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งเป้าหมายให้วัดไดโกจิเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีการวางแผนพัฒนาวัดและพื้นที่ใกล้เคียงให้เติบโตคู่กันไปอย่างยั่งยืน โดยมีการวางแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้วัดสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับความเชื่อของผู้ที่มาเยี่ยมชมได้อย่างไร้รอยต่อ และทำให้ผู้ที่เดินทางมาที่วัดได้พบความสงบสุขในจิตใจ
โดยมีกระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการพัฒนารากฐานที่สำคัญ คือ การสร้างให้บุคลากรและระบบโครงสร้างองค์กรภายในให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ต่อมาจึงจะสามารถสร้างการรับรู้ (awareness) ให้เป็นที่รู้จัก โดยมีการออกแบบหลักการทำงาน พร้อมกำหนดเป็น KPI ที่นำมาซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
การดูงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้กลยุทธ์การปรับตัวและการบริหารจัดการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงเช้าวันที่ 3 ของการดูงานสำหรับนิสิต Young Executive รุ่นที่ 30/1 คณะดูงานได้เดินทางจากเกียวโตมายังเมืองโอซาก้า เพื่อศึกษาการจัดการ Walking Street Doguyasuji หรือชื่อเต็ม คือ Sennichimae Doguya-suji Shotengai ซึ่งเป็นย่านการค้าที่เต็มไปด้วยร้านขายอุปกรณ์ทำอาหาร เครื่องครัว และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครัวของประเทศ” ซึ่งเป็นที่ๆ พ่อครัวมือโปรต่างก็ต้องมาซื้ออุปกรณ์ที่ย่านนี้
ตรงหน้าปากทางเข้าถนนการค้า Doguyasuji มีอาคารคลาสสิกอยู่แห่งหนึ่งชื่อ Namba Grand Kagetsu อาคารแห่งนี้คือโรงละครสำหรับการแสดงตลก Prof. Maekawa ที่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต และเป็นผู้ดูแลพวกเราในทริปนี้ได้บอกกับเราว่าที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะที่โอซาก้านี้กิจการตลกเฟื่องฟูมาก บรรดาดาราตลกชั้นนำของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากโอซาก้า
หลังจากนั้นเราได้พบกับเจ้าของกิจการร้านค้ามีด คุณ Ryo Tanaka President จากร้าน Sakai Ichimonji Mitsuhide ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจและพาพวกเราเยี่ยมชมร้าน Sakai Ichimonji ทำให้เราได้เห็นการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานสืบทอดมากว่า 70 ปีจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งเดิมมี Business Model เป็นการขายที่ให้บริการหลังการขาย ทำให้ลูกค้าเกิดการบอกต่อกันเองและได้ลูกค้ารายใหม่มา และยิ่งได้รับ Feedback กลับมา ก็จะสามารถปรับสินค้าให้เข้ากับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพเศรษฐกิจ ผู้คนหรือวัฒนธรรม ส่งผลให้ทางร้านต้องปรับเปลี่ยน Business Model ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยนอกจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องส่งเสริมการสื่อสารในเชิงวัฒนธรรมให้ลูกค้าได้รู้จักด้วย ซึ่งจะทำให้การบริโภคไม่ได้จบลงที่สินค้า หากแต่รวมถึงการบริโภควัฒนธรรมอีกด้วย โดยหนึ่งในความพยายามที่ทำ คือ การสร้างสถานที่ให้บริษัทและหน่วยงานต่างๆ ได้มาพูดคุยทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางความคิดกันที่ชั้น 2 ของร้าน โดยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดูงานครั้งนี้ คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือ การพยายามคิดหาว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับช่วงบ่ายซึ่งเป็น Session สุดท้ายของการดูงานภายใต้รายวิชา Global Business Experience ของหลักสูตร MBA Young Executive 30/1 พวกเราได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ Osaka Prefectural International Conference Center และได้รับเกียรติจาก Prof. Takeo Mori ในการบรรยายภายใต้หัวข้อ “Towards Osaka World Expo” โดย World Expo นั้นมีกำหนดการที่จะจัดขึ้นในปี 2025 ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
การจัด World Expo ในครั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นต้องการสร้างความแตกต่าง โดยได้คิด Concept “People Living’s Lab” เพื่อสะท้อนถึงชีวิต และการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ไม่เคยมีใน World Expo โดย Prof. Mori เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบการจัดการ Pavilion และได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน การตั้งราคา การจัดสรรเวลา การแบ่งทีมบริหาร การเดินทาง รวมถึงการเลือกตำแหน่งที่ตั้งเพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในประเทศ
อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดของการจัดงาน World Expo ทำให้ปัจจุบันผู้จัดงานประสบปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากรแรงงาน การนำส่งรูปแบบการออกแบบทางวิศวกรรมของผู้เข้าร่วมงาน โดยทางผู้จัดงานอยู่ระหว่างการจัดการเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดงานได้ทันในเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ Prof. Mori ได้ให้แง่คิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด จะต้องมีผู้นำที่คอยตัดสินใจอย่างเด็ดขาด และจะต้องวางแผนให้ชัดเจน คำนึงถึงส่วนรวม รวมถึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงพอใจสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save