เพื่อตอกย้ำความเป็นสากล หลักสูตรฯ MBA Chula ได้พัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยในวันที่ 29 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา MBA Chula ได้ต้อนรับคณะนักศึกษาจาก GLOBIS University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางมาเข้าฟังการบรรยายพร้อมทั้งศึกษาดูงานร่วมกับนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ภายใต้หัวข้อ “ความยั่งยืน และนวัตกรรมทางสังคมในประเทศไทย” (Sustainability and Social Innovation in Thailand)
เข้าสู่วันที่ 2 (30 เม.ย.) สำหรับกิจกรรมการดูงานร่วมกันระหว่างคณะนักศึกษาจาก GLOBIS University และนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ในช่วงเช้า ได้มีโอกาสในการร่วมฟังการบรรยายจากธนาคารกสิกรไทยภายใต้หัวข้อ “ความยั่งยืนและบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร” (Sustainability and Roles of Banking of Sector) จาก ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้บรรยายและให้ความรู้กับนิสิต โดยมุ่งเน้นในการนำเสนอวิธีและแนวทางการทำงานของกลุ่มธนาคาร ในมุมมองของธนาคารกสิกรไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจธนาคารและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามนโยบาย ESG (Environment Social and Governance) ตามที่ภาครัฐให้ความสำคัญในปัจจุบัน และจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจแบบ NET ZERO อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
.
โดยคุณพรพุฒิ สุริยะมงคล รองประธานกรรมการคนแรก ของ ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ได้ให้โอกาสบรรยายให้ความรู้พิเศษเพิ่มเติมในส่วนของ NET ZERO สู่ความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจธนาคารและโอกาสในอนาคต หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้คณะนักศึกษาจาก GLOBIS University และนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น NET ZERO
ในช่วงบ่ายของวันที่ 30 เม.ย. ทางคณะ GLOBIS และ MBA Chula ก็ได้เดินทางไปที่บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทย บริษัทมิตรผลให้ความสำคัญกับแนวทางการบรรลุเป้าหมาย NET ZERO และมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
.
คุณ เฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Executive Vice President of the New Business ของกลุ่มมิตรผลได้อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เพื่อให้นิสิตเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง NET ZERO และ Carbon Neutrality จากนั้นได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของมิตรผลที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO รวมถึงการต่อยอดธุรกิจจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ที่ภาครัฐให้ความสำคัญ มุ่งหวังพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในวันสุดท้าย (1 พ.ค. 2567) ดร.กนก กาญจนภู Vice President, Mediate และอาจารย์พิเศษประจำหลักสูตร MBA ได้ทำการนำเสนอภายในหัวข้อ “ESG as a Driver for Social Innovation in Thailand”