Skip to main content

นักศึกษาจาก GLOBIS University เข้าเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายร่วมกับนิสิต MBA CHULA

เพื่อตอกย้ำความเป็นสากล หลักสูตรฯ MBA Chula ได้พัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยในวันที่ 29 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา MBA Chula ได้ต้อนรับคณะนักศึกษาจาก GLOBIS University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางมาเข้าฟังการบรรยายพร้อมทั้งศึกษาดูงานร่วมกับนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ภายใต้หัวข้อ “ความยั่งยืน และนวัตกรรมทางสังคมในประเทศไทย” (Sustainability and Social Innovation in Thailand)

โดยในวันแรกของการดูงาน (29 เม.ย.) ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวการต้อนรับ ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายในช่วงเช้าด้วยหัวข้อ “เศรษฐกิจ และความยั่งยืนของไทย” (Thai Economy and Sustainability) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. คณิสร์ แสงโชติ เป็นผู้บรรยาย ซึ่งเป็นการให้ความรู้เกี่ยวข้องภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศทางธุรกิจ และความท้าทายต่าง ๆ ของดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทางหลักสูตรฯ ได้ให้มีการทำ Workshop เกี่ยวกับ Innovation for Social Inclusion โดยได้รับเกียรติจากคุณฉัตรชัย อภิบาลพูลผล Founder ของบริษัท กล่องดินสอ จำกัด มาเป็นผู้ให้ความรู้ โดยเป้าหมายของการทำ Workshop คือ การให้ผู้เรียนได้เริ่มขบคิดเกี่ยวกับปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ ซึ่งในกรณีนี้คือ ผู้พิการ หลังจากนั้นจึงอภิปรายต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรม ที่เป็นอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกยิ่งขึ้น

เข้าสู่วันที่ 2 (30 เม.ย.) สำหรับกิจกรรมการดูงานร่วมกันระหว่างคณะนักศึกษาจาก GLOBIS University และนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ในช่วงเช้า ได้มีโอกาสในการร่วมฟังการบรรยายจากธนาคารกสิกรไทยภายใต้หัวข้อ “ความยั่งยืนและบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร” (Sustainability and Roles of Banking of Sector) จาก ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้บรรยายและให้ความรู้กับนิสิต โดยมุ่งเน้นในการนำเสนอวิธีและแนวทางการทำงานของกลุ่มธนาคาร ในมุมมองของธนาคารกสิกรไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจธนาคารและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามนโยบาย ESG (Environment Social and Governance) ตามที่ภาครัฐให้ความสำคัญในปัจจุบัน และจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจแบบ NET ZERO อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
.
โดยคุณพรพุฒิ สุริยะมงคล รองประธานกรรมการคนแรก ของ ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ได้ให้โอกาสบรรยายให้ความรู้พิเศษเพิ่มเติมในส่วนของ NET ZERO สู่ความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจธนาคารและโอกาสในอนาคต หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้คณะนักศึกษาจาก GLOBIS University และนิสิตปัจจุบันของ MBA Chula ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น NET ZERO
.
นอกเหนือจากนี้ ทางธนาคารกสิกรไทยยังเอื้อเฟื้อความรู้และศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่ KLOUD by KBank ณ สยาม สแควร์ ซอย 7 ด้วยเช่นกัน
 
ในช่วงบ่ายของวันที่ 30 เม.ย. ทางคณะ GLOBIS และ MBA Chula ก็ได้เดินทางไปที่บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทย บริษัทมิตรผลให้ความสำคัญกับแนวทางการบรรลุเป้าหมาย NET ZERO และมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
.
คุณ เฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Executive Vice President of the New Business ของกลุ่มมิตรผลได้อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เพื่อให้นิสิตเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง NET ZERO และ Carbon Neutrality จากนั้นได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของมิตรผลที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO รวมถึงการต่อยอดธุรกิจจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ที่ภาครัฐให้ความสำคัญ มุ่งหวังพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
ภายหลังการบรรยาย นิสิตได้รับเชิญให้ร่วมอภิปราย แสดงความคิดเห็น และซักถามประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง
ในวันสุดท้าย (1 พ.ค. 2567) ดร.กนก กาญจนภู Vice President, Mediate และอาจารย์พิเศษประจำหลักสูตร MBA ได้ทำการนำเสนอภายในหัวข้อ “ESG as a Driver for Social Innovation in Thailand”
.
โดยเป็นการบรรยายเชิงถาม-ตอบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน เกี่ยวกับนิยาม ความสำคัญ ของ ESG ในปัจจุบันที่ธุรกิจมีเป้าหมายนอกเหนือจากการสร้างกำไรสูงสุด และ ESG ไม่เหมือนการทำ CSR แต่เป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความได้เปรียบในอนาคต ที่ธุรกิจจะต้องเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการนำ ESG มาเป็นส่วนขับเคลื่อนให้ธุรกิจไปต่อได้ในยุคโลกาภิวัตน์
.
ดร.กนก ได้อธิบายการวางกลยุทธ์ และตัวอย่างของธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ ESG ยังสามารถนำไปใช้ได้ในหลายแง่มุม เช่น การเกิดแผนกกลยทธ์ ESG ขึ้นในรบริษัท สามารถนำมาใช้จูงใจเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงาน หรือบริษัทเห็นปัญหาขยะที่เหลือจากวัตถุดิบผ้า เกิดเป็นไอเดียธุรกิจใหม่ แพลตฟอร์มขายเศษผ้าจากการผลิต
.
ดร. กนก ยังทิ้งท้ายไว้ว่าปัจจุบัน ESG ไม่ใช่แค่ Buzz อีกต่อไปแต่สามารถเป็น Plus ให้กับธุรกิจได้ในตอนนี้ และในอนาคตอันใกล้ ESG จะเป็น Must สำหรับวงการธุรกิจ
 
 
ในช่วงบ่ายของวันสุดท้ายนั้น (1 พ.ค. 2567) ดร.กฤตินี เพิ่มทรัพย์ อาจารย์พิเศษ ของหลักสูตร MBA Chula เจ้าของนามปากกา เกตุวดี Marumura ได้ทำการนำเสนอภายในหัวข้อ “Long-Living Companies : Navigating the Time”
.
โดยในช่วงแรกเป็นการบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ที่แตกต่างและโดดเด่นจากชาติอื่นอย่างไร และความเป็นไทยในอดีตเหล่านั้น ยังคงวางรากฐานมาถึงประเทศไทยในปัจจุบัน และทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทย มีจุดเด่นที่แตกต่างจากชาติอื่นอย่างไร
.
ช่วงที่สองเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน ผ่านบทความตัวอย่างธุรกิจ เกี่ยวกับธุรกิจไทยที่มีอายุยาวนานมากที่สุดในประเทศอย่าง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งที่เป็นชาวเยอรมัน ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเข้าใจวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ และนำหลักพุทธศาสนาอย่าง อริยสัจ 4 มาเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าขององค์กรได้อย่างเฉียบคม และนำมาต่อยอดธุรกิจจากอุตสาหกรรมเดียว กลายเป็นองค์กรที่มี Portfolio หลากหลายได้อย่างไร

CHULALONGKORN BUSINESS SCHOOL SELECTED AS FIELD GLOBAL IMMERSION PROJECT PARTNER FOR HARVARD BUSINESS SCHOOL

Chulalongkorn Business School (CBS) recently had the opportunity to host a team of students from Harvard Business School (HBS) in Bangkok for one week as part of a required course called the FIELD Global Immersion. MBA program at CBS was one of 157 FIELD Global Immersion Project Partners spanning 16 cities across 16 countries. Together these Partners combined to host more than 930 Harvard Business School students in all.
“We are pleased to be working with Harvard Business School in offering a workshop that
enables our MBA students to engage and share ideas with HBS students,” said Prof. Wilert Puriwat, Dean at CBS. “We feel certain that this workshop provided immense benefits to students from both institutions, allowing them to tackle real-world cases across cultural dimensions.”
Harvard is quick to acknowledge that this important learning experience would not be possible without the Project Partners.
“We are extremely grateful to Chulalongkorn Business School and all the FIELD Global Immersion Project Partners organizations for all they do on behalf of our students,” said Len Schlesinger, Baker Foundation Professor and Faculty Chair for the FIELD Global Immersion. “The students benefit immeasurably from this experience and we hope the partner organizations do as well.”

MBA Chula ต้อนรับการดูงานด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของ National Tsing Hua University (NTHU) จากไต้หวัน

(29 ก.พ. – 1 มี.ค. 2567) MBA Chula ต้อนรับการดูงานด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของ National Tsing Hua University (NTHU) จากไต้หวัน เป็นระยะเวลา 2 วัน

ในวันแรกของการดูงาน ทาง MBA Chula ได้ทำการต้อนรับ NTHU พร้อมทั้งพาเดินชมคณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาของคณะ เช่น Fin Lab และ Black Box ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมในช่วงเช้าด้วยการอบรมภายใต้หัวข้อ Medical Tourism in Thailand ที่มีเนื้อหาพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย โดยในเชิงรายละเอียดนั้น เป็นการนำเสนอถึงข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในแขนงนี้ เช่น ประวัติความเป็นมาในเบื้องต้น, แนวทาง – รูปแบบการดำเนินการในกรณีของประเทศไทย, ศักยภาพ และผลประโยชน์ที่ได้รับของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เป็นต้น

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะอาจารย์และนักศึกษาจาก NTHU ได้เดินทางไปยัง โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยช่วงแรกของการดูงานจะเป็นการรับฟังบรรยายจากบุคลากรของโรงพยาบาลในหัวข้อต่างๆ ซึ่งได้รับเกียรติในการกล่าวต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กรโดย นาวาอากาศตรีหญิง แพทย์หญิงสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช โดยหลังจากจบช่วงการบรรยายเรียบร้อยดีแล้ว ทางคณะเจ้าหน้าที่ก็ได้พาเยี่ยมชมโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น Virtual Hospital, Samitivej Active Performance Medical Center (SMAP), Advanced Robotic Rehabilitation Center และ Digital Health Venture (DHV) เพื่อให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ในสถานการณ์จริงควบคู่ไปกับการบรรยายอย่างคร่าวๆ

นับเป็นการลงดูพื้นที่และรับฟังการบรรยายอย่างครบองค์ประกอบที่สามารถนำไปสู่การสร้างความรู้ต่อยอดในประเด็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในขั้นการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในระดับชั้นนำของโลก

ภายในวันที่สองของการดูงาน ทาง NTHU ได้เข้ารับการอบรมเพิ่มเติม ภายใต้หัวข้อ Healthcare Service Quality in Thailand ที่เป็นการบรรยายเพื่อนำเสนอข้อมูลทางด้านคุณภาพของการบริการด้านการดูแลสุขภาพภายในประเทศที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้บริการทางด้านการดูแลสุขภาพภายในประเทศไทยนั้น เป็นอย่างไร, ถือว่าคุณภาพในระดับไหน และเมื่อเทียบกับตัวแปรต่าง ๆ อาทิ ต่างประเทศ และบริการจากช่องทางอื่น ๆ ในประเทศ จะมีความแตกต่าง และมีการแข่งขันกันได้อย่างไร
การบรรยายต่อมา เป็นหัวข้อ Technological Advancements in Healthcare Systems of Thailand โดยเป็นการพูดถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับระบบการดูแลสุขภาพในประเทศไทย ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการ – ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และระบบสุขภาพในภาคส่วนเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง, จุดแข็งของเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย และก้าวต่อไปของเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทย
หลังการอบรมสิ้นสุดลง ทาง MBA Chula ได้พาคณะอาจารย์ และนักศึกษาของ NTHU รับประทานอาหารกลางวัน พร้อมทั้งพาชมมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม, ซื้อของที่ระลึก ณ ศูนย์หนังสือจุฬา จากนั้นก็ทำการถ่ายรูปหมู่ ส่งท้ายการดูงานในครั้งนี้

MBA Chula เผยความพร้อมต่อการผันแปรของทักษะความเป็นผู้นำในอนาคต

MBA Chula ได้แสดงถึงปรัชญาการเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในอนาคต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจที่มาจากความร่วมมือกันระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) และ World Economic Forum (WEF) โดยเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสายงาน และอาชีพในอนาคต ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือ ทักษะ – ความรู้ใหม่ที่คาดว่าจะเป็นตัวแปร หรือหัวใจสำคัญของบรรดาธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจในอนาคต ที่มีด้วยกัน 10 ด้านดังต่อไปนี้

  1. AI & Big Data – ปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลมหัต
  2. Analytic Thinking – การคิดเชิงวิเคราะห์
  3. Creative Thinking – การคิดเชิงสร้างสรรค์
  4. Leadership and Social Influence – ความเป็นผู้นำ และอิทธิพลทางสังคม
  5. Talent Management – การบริหารจัดการความสามารถ
  6. Resilience, Flexibility and Agility – ความอดทน, ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว
  7. Curiosity and Lifelong Learning – ความช่างสงสัย และความต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  8. Technology Literacy – ความรู้ในการจัดการกับเทคโนโลยี
  9. Environmental Stewardship – การดำเนินการที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
  10. Service Orientation and Customer Service – การมีจิตมุ่งบริการ และการบริการลูกค้า

ทางหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MBA Chula) ก็ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และความสามารถต่าง ๆ ที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้บริหารในอนาคต โดยถ่ายทอดออกมาผ่านหลักปรัชญาการเรียนรู้ (5C) ที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอน และกิจกรรมต่าง ๆ หลักสูตร ที่เสริมสร้างทักษะ/ความรู้ในอนาคตเหล่านี้

  1. Critical Thinking: เป็นการคิดวิเคราะห์อย่างมีตรรกะและเป็นระบบ ซึ่งเกิดจากการประสานกันระหว่างความรู้เชิงทฤษฎี กับภาพธุรกิจจริง เพื่อให้ผู้บริหารสามารถคิดวิเคราะห์และการอธิบายกลไกธุรกิจในบริบทต่าง ๆ ได้ ซึ่งทักษะความรู้ในด้าน AI – Big Data และ Analytical Thinking จะมีบทบาทมาก และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ผ่านวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Data Science, Business Analytics และโมเดลการวิเคราะห์มากมายที่สอดแทรกในวิชาต่าง ๆ ของทางหลักสูตร
  2. Creativity คือ Create + Ability เป็นความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น โดยหลักสูตรมุ่งเน้นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Experiential Learning ที่ไม่ได้แค่เรียนเนื้อหาแล้วนำไปสอบ หากแต่จะมีโครงงานให้ผู้เรียนได้นำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้จริง ด้วยการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องของคณาจารย์ ทำให้องค์ความรู้ที่สอนไม่ได้อยู่แค่เพียงตำราจากต่างประเทศ หากแต่เป็นองค์ความรู้ที่ที่ทันสมัยและประยุกต์ใช้ได้จริงในบริบทของสังคมและเศรษฐกิจทั้งใระดับประเทศและระดับสากล
  3. Care: การให้ความใส่ใจต่อทั้งคู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ถือว่าความสอดคล้องกับทักษะ – ความรู้ในด้านของ Environmental Stewardship, Service Orientation and Customer Service ผ่านการปลูกฝังและเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Share Values: CSV) ความยั่งยืน (Sustainability) และจริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งวิชาดังกล่าวนี้จะมีการนำผู้เรียนลงพื้นที่ชุมชนเพื่อช่วยคิดวางแผนแก้ปัญหาให้กับธุรกิจจริง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทั้งจากบทเรียนและประสบการณ์จริง
  4. Collaboration: ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในปรัชญาการเรียนรู้ที่ทาง MBA Chula ได้ส่งเสริมแก่ผู้เรียน โดยคุณสมบัติของผู้นำที่ดี คือ สามารถทำงานประสานกันเป็นทีม และดึงศักยภาพที่โดดเด่นของสมาชิกในทีมออกมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำงานได้ โดยผู้เรียนจะสามารถฝึกฝนทักษะเหล่านี้ได้จากการร่วมกันทำโครงงานต่าง ๆ ในแต่ละรายวิชา
  5. Communication: เป็นหนึ่งในทักษะที่ MBA Chula ให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้บริหารที่ดีนั้นนอกจากจะมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องสามารถสื่อสารสิ่งที่ตนคิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรได้ออกแบบรายวิชาที่ช่วยพัฒนาความสามารถของสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน ทั้งในการติดต่อธุรกิจ การสื่อสารภายในคณะทำงาน และการสื่อสารเพื่อสร้างอิทธิพลต่อสังคม

นอกเหนือไปจากในส่วนของปรัชญาการเรียนรู้ (5C) แล้วนั้น MBA Chula ยังมุ่งเน้นการส่งเสริม Global Mindset ผ่านการศึกษาดูงานในต่างประเทศ  โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของหลักสูตรทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจ  ทำให้สามารถเข้าถึงการดูงานที่ลึกซึ้งและสามารถเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจข้ามชาติได้อย่างแท้จริง

ด้วยความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้เกิดองความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ล่าสุดหลักสูตรจึงได้ริเริ่มโครงการ Life Long Learning เพิ่มเปิดโอกาสให้นิสิตเก่าของหลักสูตรสามารถกลับมาเพิ่มพูนทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง กลไกการจัดการการเรียนการสอนเหล่านี้ เกิดจากความมุ่งหวังของ MBA Chula ที่จะผลิตผู้บริหารยุคใหม่ที่มีความสามารถพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และคาดว่าผู้เรียนที่จบไปจากหลักสูตรนี้ จะเป็นแรงผลักดัน และขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Website : https://mba.cbs.chula.ac.th/

สำหรับผู้ที่ต้องการรับรู้ข่าวสารจากทางหลักสูตรก็สามารถติดตามได้ ณ Facebook Page : https://www.facebook.com/mbachulalongkorn

Chulalongkorn Business School’s MBA Program Prepares Leaders for Tomorrow

In an era of rapidly evolving workplace skills, the MBA Program at Chulalongkorn Business School (CBS) stands ready to equip future business leaders with the skills and knowledge needed for a sustainable future. Anchored in a 5C learning philosophy—Critical Thinking, Creativity, Care, Collaboration, and Communication—the program aims to forge leaders adept at navigating the challenges of tomorrow.

Assoc. Prof. Nuttapol Assarut, the Director of the CBS MBA Program, disclosed that the curriculum is crafted based on cutting-edge research on the skills vital for future business and economic landscapes. This is in partnership with the World Economic Forum (WEF), highlighting 10 essential skills for future business leaders, including AI & Big Data, Analytic Thinking, and Creative Thinking, among others.

The MBA at Chula is proactive in adapting its curriculum to the shifting skill landscape, focusing on enhancing the abilities, knowledge, and competencies of tomorrow’s leaders through its 5C learning strategy. This strategy informs the curriculum design, including:

Critical Thinking: Emphasizing rational and systematic analysis and interpretation of information. This encompasses understanding business mechanisms across various scenarios, with a significant focus on AI, Big Data, and Analytical Thinking. Courses in Data Science and Business Analytics are central to this pillar.

Creativity: Encouraging the generation of new ideas through experiential learning and projects. CBS leverages ongoing research to blend knowledge from global texts with practical applications, fostering creativity in both local and international contexts.

Care: Fostering a sense of responsibility towards stakeholders, communities, and the environment to build robust and sustainable businesses. This aligns with teachings in Environmental Stewardship and Customer Service, offering students practical experience through community engagement and sustainability projects.

Collaboration: Cultivating leadership qualities that promote teamwork and the maximization of team potential. Students engage in project-based learning to develop these collaborative skills.

Communication: Recognizing the critical role of effective communication in leadership. The program designs courses to enhance various communication skills, ensuring graduates can convey their ideas clearly and align teams towards common goals.

Assoc. Prof. Nuttapol highlighted the recent launch of the Life Long Learning project, encouraging alumni to continuously update their skills and knowledge, affirming the program’s commitment to producing visionary leaders ready for future challenges. The program aspires to be a catalyst for sustainable business development.

For additional details, please visit the MBA Chula website at https://mba.cbs.chula.ac.th/ or their Facebook page at https://www.facebook.com/mbachulalongkorn.

#MBAChula #CBS #ChulalongkornBusinessSchool #LifeLongLearning #FutureSkills

นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MBA Chula) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการประกวด Venture Capital Investment Competition-VCIC

นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MBA Chula) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากเวทีการประกวด Venture Capital Investment Competition-VCIC ที่จัดขึ้นที่ Nanyang Technological University (NTU), Singapore เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ตัวแทนนิสิต 6 ท่านที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เป็นนิสิตหลักสูตร MBA Executive รุ่นที่ 37 ประกอบด้วย

1. นายธนกร จันทรังษี

2. นางสาวกาญจนา อุเทนดากรณ์

3. นายดิลก ตั้งฐานสัมมา

4. นายธษภิชญ ถาวรสุข

5. นายพัศพงศ์ ชมเชย

6. นายวิศรุต อมรชัยเจริญ

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.คณิสร์ แสงโชติ และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ เป็นที่ปรึกษา

เวทีการประกวดในครั้งนี้วัดความสามารถของผู้เข้าแข่งขันที่สวมบทบาทนักวิเคราะห์ของกองทุน Venture Capital

ผู้แข่งขันต้องแสดงศักยภาพในการวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจ start-up แต่ละรายที่เข้ามา pitch ประเมินมูลค่าและโอกาสต่อยอด เจรจาต่อรองเงื่อนไข และนำเสนอการตัดสินใจลงทุนใน start-up ที่เลือกให้คณะกรรมการลงทุน เป็นการจำลองการทำงานของ VC จริง

ผลงานของทีมแสดงถึงความสามารถของนิสิตในหลักสูตรฯ ที่ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติ

#MBAChula#CBSChula#ChulalongkornBusinessSchool#VCIC

นิสิตประจำหลักสูตร Executive รุ่นที่ 38 และคณาจารย์จาก MBA Chula ได้เดินทางไปดูงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 นิสิตประจำหลักสูตร Executive รุ่นที่ 38 และคณาจารย์จาก MBA Chula ได้เดินทางไปดูงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยในวันแรกนี้ ทางหลักสูตรฯก็เริ่มต้นด้วยการไปดูงานที่ Hillkoff Learning Space โดยมีคุณณชาศิลป์ เจริญกุล, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ, บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เป็นวิทยากรให้การอบรมภายในวันดังกล่าว

โดยคุณณชาศิลป์ได้ทำการเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มต้นของบริษัท, กระบวนการ/แนวทางการทำงาน, และผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์จากส่วนต่าง ๆ ของเมล็ดกาแฟ (กาแฟ, เครื่องดื่มจากเนื้อเมล็ด), ถ่านชีวมวล และอื่น ๆ

ซึ่งจุดเด่นของฮิลคอฟฟ์นั้น คือการให้ความสำคัญกับนวัตกรรม – การวิจัยที่สามารถต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทได้ อีกทั้งยังมีในส่วนของกระบวนการการทำงานของบริษัทที่ยึดโยงกับชุมชนท้องถิ่น, เกษตรกร และสิ่งแวดล้อมเป็นหลักอีกด้วย

ในช่วงเวลาบ่าย กับวิสาหกิจชุมชน มู่ลี่ทอดิ้นเงิน By ป้าโต๊ะ OTOP อ.หางดง ซึ่งก็ได้ คุณประณต เตชะปัน ผู้สืบทอดดูแลกิจการในปัจจุบัน เป็นผู้นำชมวิสาหกิจ
.
ภายในการดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้นั้น นิสิตก็ได้รับชมกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการสาน และการเย็บผลิตภัณฑ์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่เคยมีการวางขาย และที่กำลังจะวางขายภายในช่วงปี 2566/2567
.
นอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนการอบรม และพูดคุยกับคุณประณตถึงการดำเนินกิจการของวิสาหกิจ และปัญหาที่วิสาหกิจกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ โดยตัววิสาหกิจนั้น ทำการขายผลิตภัณฑ์ประเภท Homemade และมีการจัดทำตามการสั่งซื้อเป็นหลัก ในส่วนของปัญหาที่พบเจอก็มีตั้งแต่แรงงานที่กำลังจะขาดแคลน เนื่องด้วยเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่, ช่องทางจำหน่าย และโอกาสเผยแพร่ยังน้อย อีกทั้งราคาของสินค้ามีความผันผวนตามตลาดที่จำหน่าย
วันที่ 2 ของทริปดูงานสำหรับ นิสิตหลักสูตร Executive รุ่นที่ 38 ประจำ MBA Chula โดยได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ทักษอุดม, กรรมการผู้จัดการ, บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ (Hillkoff) จำกัด มาบรรยาย และแลกเปลี่ยนความเห็น ณ โรงแรมยูนิมมาน เชียงใหม่
.
ในการบรรยาย คุณนฤมล ได้ทำการกล่าวภายในหัวข้อ Living in Sustainability, Harmony and Longevity ที่ได้พูดถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งธุรกิจ และแนวทาง – รูปแบบในการดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน, ความเหมาะสม และความยืนยาวของธุรกิจ
.
โดยสรุปแล้วนั้น แรงบันดาลใจของคุณนฤมลก็คือความตั้งใจในการสานต่อความสำเร็จของคนรุ่นก่อนให้ต่อเนื่อง และพร้อมที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งการจะสามารถทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีการสืบกลับที่ต้นตอของธุรกิจว่าเกิดขึ้นจากอะไร และการลงทุนทางธุรกิจควรมีการคำนึงถึงกับความคิด/แนวคิดไปด้วย
.
ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่ Hillkoff ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีรากฐานมาจากผลิตภัณฑ์ตั้งต้นของบริษัท : กาแฟ

คณะนิสิตจาก Hiroshima Business and Management School (HBMS)เดินทางมาทัศนศึกษาและดูงานยังประเทศไทยและคณะบัญชี จุฬา

วันที่ 3 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา Hiroshima Business and Management School (HBMS), Prefectural University of Hiroshima ได้เดินทางมาทัศนศึกษาและดูงานยังประเทศไทย โดยมี MBA Chula เป็นผู้ดูแล ในวันแรกของการดูงาน รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ ประธานหลักสูตรฯ เป็นผู้กล่าวแนะนำคณะ พร้อมทั้งพาชมสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในคณะ อาทิ ห้องปฏิบัติการทางการเงิน (Financial Lab) และห้อง Management Theater หรือห้องเภตราลัย

ต่อจากนั้น รศ. ดร.ณัฐพล ได้บรรยายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ของธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย” (Japanese Firm Strategy in Thailand) ซึ่งจะกล่าวถึง ความต่างในวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมประหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวของธุรกิจญี่ปุ่นในการเข้าสู่ตลาดประเทศไทย

หลังจากนั้นจึงปิดท้ายด้วยการกล่าวต้อนรับอีกครั้งจาก ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนของที่ระลึกระหว่างทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

วันที่ 2 ของการดูงานภายในประเทศของ HBMS โดยเริ่มต้นด้วยการอบรมจาก ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ที่มาบรรยายภายใต้หัวข้อ “ทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทย” (Understanding Thai Culture) ซึ่งก็มีนิสิตไทยจากหลักสูตร Regular รุ่นที่ 42 ของ MBA Chula มาเข้าร่วมการอบรมด้วย
.
เนื้อหาของการอบรมนั้น ก็คือการนำเสนอความรู้ในส่วนของวัฒนธรรมไทย โดยเป็นการบรรยายแบบเบื้องต้น และภาพรวมเพื่อแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
.
โดย ผศ.ดร.กฤตินี ได้นำเสนอว่าวัฒนธรรมของไทยนั้น ก็มีความผูกโยงกับแนวคิดชนชั้นตามประวัติศาสตร์ไทย สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เราเห็นได้ในปัจจุบันอย่าง เฟอร์นิเจอร์, อาหาร และการแสดงนั้น มีรากฐานมาจากชนชั้นนำ เช่นเดียวกับสิ่งที่เราไม่เห็น อาทิ ค่านิยมทางความคิด, ขนบธรรมเนียม กิริยามารยาท และพฤติกรรม ที่มีรากฐาน และความเกี่ยวพันกับแนวคิดเรื่องชนชั้นของไทยเช่นกัน
.
กล่าวโดยสรุปแล้วนั้น แนวคิดเรื่องชนชั้นของประเทศไทยมีผลกระทบเป็นอย่างยิ่งกับวัฒนธรรมของประเทศ
 
ในภาคบ่ายของการเรียน คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล Chief Executive Officer & Co-founder ของ Noburo ได้ทำการนำเสนอภายในหัวข้อ “Noburo (Social Start-up) Financial well-being for your employees”
.
โดยเป็นการพูดถึงตัวบริษัท Noburo ซึ่งเริ่มตั้งแต่แรงบัลดาลใจในการก่อตั้งบริษัท และหลักในการก่อตั้ง ที่มีฐานมาจากความต้องการในการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยองค์ความรู้, เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงความคิดที่ว่าการทำจิตอาสาไม่ใช่การแก้ไขในระยะยาว และไม่มีความยั่งยืน ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายของ Noburo นั้นก็คือกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำ และมีภาระหนี้ – ประวัติการเงินเสีย
.
คุณธิษณา ได้อธิบายการทำงานของ Noburo ไว้ว่าทางบริษัทจะเข้าไปช่วยจัดการ และบริหารในส่วนของการเงินของผู้ที่ความต้องการ ผ่านการดำเนินการ 2 ส่วนด้วยกันได้แก่ การจัดการกับหนี้นอกระบบ และการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อชำระหนี้อื่น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทาง Noburo มองว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากความคิดของเราที่ต้องเริ่มแก้ด้วยการแก้ไขความคิด แล้วจึงตามมาด้วยการวางแผนทางการเงินเพื่อชำระหนี้ต่าง ๆ ที่มี จนมาถึงการลงมือในที่สุด
เพื่อเป็นการส่งท้ายการมาเยือนของ HBMS ทาง MBA Chula ได้นำคณะผู้มาเยือนจากฮิโรชิมะ ไปเยี่ยมชมหนึ่งในบรรดาหน้าร้านของ Thann บริษัททางด้านธุรกิจอโรมาเธอราพี, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวธรรมชาติชื่อดัง โดยได้รับเกียรติจาก คุณฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ – Founder of Thann & MD of Thann-Oryza Co., Ltd. มาให้การต้อนรับ ณ Thann Sanctuary Sukhumvit 47
พร้อมกันนี้ คุณฐิติพัฒน์ ยังได้ทำการบรรยายถึงแนวทางที่ใช้ในการบริหารงาน Thann ให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
โดยพอหลังจากจบการบรรยายแล้วนั้น ผู้เข้าร่วมชมทุกท่านยังได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ Thann ได้เตรียมไว้ให้อีกด้วย

MBA Young Executive รุ่น 29/2 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เราได้นำนิสิตมาดูงาน ณ ไต้หวัน

ในการเสริมสร้าง Global Business Mindset ให้กับนิสิต MBA CHULA ทางหลักสูตรฯ ได้จัดการศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ ในวิชา Global Business Experience ของหลักสูตร MBA Young Executive รุ่น 29/2 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เราได้นำนิสิตมาดูงานที่ประเทศไต้หวัน
ในวันแรก นิสิตได้เข้าเยี่ยมชม Cycling Culture Museum ที่จัดตั้งและบริหารโดย Giant Bicycle บริษัทไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตจักรยานระดับโลก เราได้เรียนรู้ความเป็นมาของอุตสาหกรรมจักรยานในประเทศไต้หวัน รวมถึงกลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาด กลยุทธ์การเติบโตในตลาดโลก และแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ประกอบจากประเทศไต้หวันแห่งนี้ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่มีบทบาทอย่างสูงในอุตสาหกรรมจักรยานของโลก
การดูงานในวันที่ 2 ของหลักสูตร MBA Young Executive 29/2 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เราได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ GlobalWafers บริษัทอันดับ 3 ของโลกที่ผลิต Silicon Wafer Material ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิต Semiconductor โดยมีลูกค้าหลัก อาทิ TSMC ที่เป็น Supplier หลักของชิปโทรศัพท์มือถือทั่วโลก
ในการดูงานครั้งนี้ นิสิตได้เข้าชมกระบวนการผลิต และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับกลยุทธ์การเติบโตที่ผ่านมา รวมถึงการวิเคราะห์ทิศทางของอุตสาหกรรมปลายน้ำทั่วโลก เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับการแข่งขันในตลาดโลก
การศึกษาดูงานในวันที่ 3 ของหลักสูตร MBA Young Executive 29/2 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการดูงาน คณะเดินทางได้เข้าฟังการฟังการบรรยายจาก College of Technology Management, National Tsing Hua University โดยหัวข้อแรกเป็นการบรรยายโดย Prof. Yuan-Chieh Chang ที่อธิบายถึงแนวคิด Innovation 5.0 ที่เป็นแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมแบบ Open Innovation ที่มีการ Spin in องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากภายนอกองค์กร และการ Spin off องค์ความรู้เพื่อค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ส่วนในหัวข้อที่ 2 จะบรรยายโดย Assoc. Prof. Ying-Che Hsieh ที่อธิบายแนวคิดการทำ CSR ที่สนับสนุนการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ (Business Sustainability) และหัวข้อสุดท้าย คือ การบรรยายโดย Prof. Pei-Fang Hsu ที่บรรยายถึงการใช้งานระบบ MIS ในการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยการบรรยายจะเน้นไปที่การวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ CRM (Customer Relationship Management)

 

นิสิต Executive MBA รุ่น 38 เรียนรู้ในและนอกห้องเรียนผ่านวิชา Global Immersive Experience ณเมือง Bordeaux ประเทศฝรั่งเศส

ในการเสริมสร้าง Global Business Mindset ให้กับนิสิต MBA ทางหลักสูตรฯ ได้นำนิสิต Executive MBA รุ่น 38 มาเยือนเมือง Bordeaux ประเทศฝรั่งเศสเพื่อให้นิสิตเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนผ่าน Global Immersive Experience ในธีม Wine Management ซึ่งไวน์ถือเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อของเมือง Bordeaux
ในวันแรก นิสิตได้รับฟังการบรรยายจาก Prof. Herve อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจไวน์ จาก Kedge Business School ทำให้ทราบถึงการแข่งขันในตลาดปัจจุบันของไวน์จากเมือง Bordeaux รวมไปถึงการลงทุนในไวน์ซึ่งมีตลาดฟิวเจอร์สไวน์หรือที่เรียกว่า En Primeur ในการลงทุนในไวน์อีกด้วย
จุดเด่นของไวน์จากเมือง Bordeaux มีไวน์ประเภท AOC (Appellation d’Origine Contrôlée) จำนวนมาก AOC เป็นการรับรองว่าในกระบวนการผลิตไวน์ทุกขั้นตอน ไปจนถึงสถานที่ผลิตและวัตถุดิบต่าง ๆ จะมาจากพื้นที่นี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นดิน หิน น้ำในการปลูกองุ่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไวน์ ไปจนถึงพันธุ์องุ่นที่สามารถใช้ได้ AOC สร้างจุดเด่นให้สินค้าพื้นเมืองคงเอกลักษณ์ของเมืองได้เป็นอย่างดี
หลักสูตรฯ ได้นำนิสิตเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไวน์และพูดคุยสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่ Château d’Agassac ในพื้นที่ Ludon-Médoc และ Château Marquis de Terme ในพื้นที่ Margaux

ในวันที่ 2 การตลาดธุรกิจไวน์
ทางหลักสูตรฯได้พานิสิตเข้ารับฟังการบรรยายจาก Prof. Herve เรื่องการทำการตลาดธุรกิจไวน์ มี 2 ปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขัน
ปัจจัยแรกคือ Easy to Buy เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้อย่างง่าย โดยอาจใช้รูปแบบ En Primeur เป็นการซื้อไวน์ล่วงหน้า โดยมีโบรกเกอร์ช่วยเจรจาในการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและพ่อค้า ก่อนที่พ่อค้าจะนำสินค้ากระจายไปยังช่องทางต่างๆ จนถึงมือผู้บริโภคในท้ายที่สุด
ปัจจัยที่สอง คือ Easy to Mind ทำให้ผู้บริโภคนึกถึงและจดจำสินค้าของผู้ผลิตเมื่อเลือกซื้อไวน์ การสร้างแบรนด์จึงสำคัญอย่างยิ่ง
ช่วงบ่าย Prof. Herve ได้พานิสิตเข้าเยี่ยมชม Wine Testing Lab และให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีการชิมไวน์ เพื่อให้เข้าใจลักษณะและเสน่ห์ของไวน์มากขึ้น ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ Watching (สี) Smelling (กลิ่น) และ Tasting (รสสัมผัส)
เมื่อชิมเปรียบเทียบไวน์จากบริเวณเดียวกันแต่ละคนละไร่ หรือไร่เดียวกันแต่คนละปี (Vintage) ก็จะทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
วันที่ 3
‘Cité du Vin’ เป็นพิพิธภัณฑ์ไวน์ที่ดีที่สุดในโลก สะท้อนประวัติศาสตร์และความเป็นมาของการผลิตไวน์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยอียิปต์ จนแพร่หลายไปทั่วโลก ที่กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมประเทศต่างๆ เช่น กรีซ ญี่ปุ่น
เนื้อหาครอบคลุมหลากหลายมิติตั้งแต่ องค์ประกอบต่างๆ ในการผลิตไวน์ เช่น บรรจุภัณฑ์นวัตกรรมในการผลิตไวน์ และ Wine Architecture ไปจนถึงศาสตร์และศิลป์ของการดื่มไวน์ การนำเสนอในรูปแบบ Interactive สร้างความประทับใจ และช่วยเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับไวน์ของทั้ง Bordeaux และทั่วโลก
ในช่วงบ่าย นิสิตได้เยี่ยมชมตัวเมือง Bordeaux เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวเมือง ซึ่งไวน์ได้กลมกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของผู้คนในเมืองนี้ สำหรับเมือง Bordeaux เป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศฝรั่งเศส
วันที่ 4
หลักสูตรฯ พานิสิตเรียนรู้มุมมองด้านการบริหารในยุค Industry 4.0 ของประเทศฝรั่งเศสจาก Mr. Marc Bagur ผู้เชี่ยวชาญด้าน Human-Machine Performance จาก Airudit
Industry 4.0 ให้ความสำคัญแก่ดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น Internet of Things (IoT) และ Artificial Intelligence (AI) ที่ช่วยให้เครื่องจักรหรือระบบต่างๆ สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิต
ปัจจุบันหลายประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และอเมริกา ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกับมนุษย์และการสร้างคุณค่าให้แก่มนุษย์และสังคม หรือที่รู้จักในชื่อ Industry 5.0 โดยมีหัวใจสำคัญ 3 ประการ คือ Sustainability, Human Centric และ Resilience
นอกจากนี้ทางหลักสูตรฯ ได้เสริมสร้างมุมมองด้าน Industry 4.0 โดยนำนิสิตเข้าเยี่ยมชมโรงงาน EMS และฟังบรรยายโดย Mr. Raphaël Mouneyres
EMS เป็น Smart Factory ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีในการผลิตอิเล็กทรอนิกส์บอร์ด ซึ่งเป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบที่มีความซับซ้อน และต้อง customized โดยมีจุดเด่นคือสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่ต้องการความคล่องตัวสูง เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าตามหลักการ Industry 4.0

นิสิตหลักสูตร Young Executive 29/1 และ English Program 17 เดินทางไปศึกษาและดูงานธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์

เพื่อพัฒนาทักษะ Global Mindset สร้างการเรียนรู้และเข้าใจถึงธุรกิจและวัฒนธรรมนานาชาติให้แก่นิสิต อันเป็นส่วนหนึ่งของวิชา Global Business Experience หลักสูตร MBA Chula ได้พานิสิตในหลักสูตร Young Executive 29/1 และ English Program 17 เดินทางไปศึกษาและดูงานธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีประสบการณ์สรุปดังนี้

หัวข้อ: การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์
Prof. ANG Ser Keng และ Prof. Tan Kim Song จาก Singapore Management University (SMU) ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ Singapore Economy: Maintaining Competitive Edge และเล่าถึงเหตุการณ์และนโยบายสำคัญต่างๆในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเปิดมุมมองและวิสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองท่านเล่า ว่าสิงคโปร์เองก็มีความท้าทายที่แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนเช่นกัน ทำอย่างไรจึงทำให้สิงคโปร์ยังสามารถดำรงความเป็นผู้นำและอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆในอาเซียนได้อย่างยั่งยืน

หัวข้อ: การเรียนรู้จากธุรกิจ startup
หลักสูตรฯได้เข้าเยี่ยมชมและฟังการบรรยายจากผู้บริหารบริษัท Mighty Jaxx ซึ่งเป็นบริษัท startup ที่ออกแบบและขายสินค้าสะสมที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร (designer toys) โดยใช้คอนเซ็ปต์ Phygital บริษัท Mighty Jaxx อาจไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทฯ ทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Netflix, Cartoon Network, Warner Brothers และได้รับรางวัลความสำเร็จมากมาย โดยหัวใจของความสำเร็จคือการสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ของสินค้าที่ทำให้ลูกค้าจะต้องเสาะหาสินค้าสะสมของ Mighty Jaxx มาเป็นเจ้าของ

หัวข้อ: การบริหารอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์
หลักสูตรฯได้เรียนรู้จากบริษัท Frasers Centerpoint Trust บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของสิงคโปร์ โดยได้รับเกียรติจากคุณ Richard Ng CEO ของบริษัท บรรยายเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และกลยุทธ์การสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจที่ไม่จำกัดเพียงสิงคโปร์เท่านั้นแต่ขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก
หลังจากที่รับฟังบรรยายแล้ว ได้เดินทางไปดูงานที่ North Point Shopping Center บริหารงานโดย Frasers Centerpoint Trust ตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของเกาะ และเป็นศูนย์กลางชุมชนของย่านนี้ ภายในของ North Point Shopping Center นอกจากมีห้างร้านต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดบริเวณที่เป็นห้องสมุดสาธารณะของเมือง รวมทั้งสวนสนุกสำหรับเด็กให้บริการฟรีอีกด้วย โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาศูนย์กลางการเดินทางให้กับชุมชนด้วย

หัวข้อ: การบริหารธุรกิจแพลตฟอร์ม
หลักสูตรฯได้เข้าเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ บริษัท Grab Singapore โดยได้รับเกียรติจากคุณ Russell Cohen (Group Managing Director) คุณ Pete Nuchanatanon และทีมผู้บริหาร บรรยายถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ Grab ซึ่งการที่เป็นธุรกิจประเภทแพลตฟอร์มจึงทำให้มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ
ทีมบริหารได้เล่าถึงความท้าทายในการบริหารแพลตฟอร์ม ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้งาน ผู้ขับรถ และร้านค้า ทำให้ต้องออกแบบอัลกอรึทึ่มที่คำนึงถึงพฤติกรรมที่ต่างกัน อย่างเช่นกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นคนในพื้นที่ มีความต้องการแตกต่างจากนักท่องเที่ยว ทำให้การออกแบบแอพพลิเคชันต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้ด้วย
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save